POSTED BY TRAVELBARADMIN | Thursday, July 11, 2019 - 13:23
มาชูปิกชู ตั้งอยู่ยอดเขาสูง บนเทือกเขาแอนดิส ในประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ เมืองโบราณแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาชั้นสูงของชนเผ่าอินคาในช่วงศตวรรษที่ 15 และกลายเป็นนครสาบสูญในเวลาต่อมา หลังจากที่สเปนเข้ามายึดครองดินแดนแถบนี้ในช่วงศตวรรษที่ 16 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2454 นักโบราณคดีชาวอเมริกันชื่อ ไฮแรม บิงแฮม ได้เป็นผู้ค้นพบนครแห่งนี้อีกครั้ง และเมื่อความยิ่งใหญ่ของมาชูปิกชู ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร National Geographic ในปีเดียวกัน เมืองที่เคยสาบสูญจึงเผยโฉมต่อสายตาชาวโลกได้อย่างน่าตื่นตะลึง
มาชูปิกชู Photo by Jair Garciaferro
มาชูปิกชูได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ.2526 และยังได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ในปี พ.ศ.2550 นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เพียงพอสำหรับการดั้นด้นไปเยือนนครโบราณแห่งนี้ด้วยตนเองสักครั้ง แม้ระยะทางที่ไกลถึงครึ่งค่อนโลกอาจทำให้หลายคนถอดใจ แต่สำหรับนักเดินทางที่หลงไหลประวัติศาสตร์ อารยธรรมโบราณของชนเผ่าอินคา การเดินทางไปยังมาชูปิกชูน่าจะเติมเต็มประสบการณ์ได้อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการวางแผนท่องเที่ยวที่ดี
เปรูเป็น 1 ใน 32 ประเทศที่คนไทยไปท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า และอยู่ได้นานถึง 90 วัน แค่ต้องมีอายุพาสปอร์ตเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน เมื่อเช็คพาสปอร์ตเรียบร้อยแล้วก็จัดสรรวันเดินทางกันได้เลย ถ้าจะให้ดีควรมีเวลาประมาณ 10-15 วัน จากนั้นเตรียมฟิตร่างกายเอาไว้ แต่ไม่ต้องกังวลเกินไป เพราะถึงมาชูปิกชูจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 2,350 เมตร ก็ยังต่ำกว่าระดับความสูงของเมืองลาซาแห่งทิเบต ใครที่เคยผ่านทิเบตมาแล้ว ที่นี่ถือว่าสบาย ๆ พอไปถึงเปรูแล้วเผื่อเวลาพักผ่อนให้หายจากอาการเจ็ตแล็ก เมื่อร่างกายปรับสภาพกับเวลาที่ช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมงได้แล้ว คุณก็พร้อมจะไปสัมผัสเสน่ห์ของเมืองสาบสูญแห่งอินคา
เมืองกุสโก Photo by Peter Hershey
มาชูปิกชู ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกุสโก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเปรู ห่างจากกรุงลิมาซึ่งเป็นเมืองหลวงราว 1,102กิโลเมตร การวางแผนเดินทางเริ่มจากสนามบินสุวรรณภูมิบินไปถึงกรุงลิมา (ใช้เวลาประมาณ 38-50 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสายการบินและจุดแวะพัก) จากนั้นเดินทางสู่เมืองกุสโกด้วยสายการบินภายในประเทศ เพราะถ้านั่งรถบัสจะต้องใช้เวลาอีก 24 ชั่วโมง เมื่อไปถึงจังหวัดกุสโกแล้วคุณอาจจะพักสัก 2 วัน เพื่อเตรียมตัวไปยังมาชูปิกชู แต่ถ้าใครกังวลเรื่องอาการแพ้ความสูงอาจจะนั่งรถไฟจากกุสโกต่อไปยังเมืองอากวาส ฮาเลียนเตส ซึ่งเป็นเมืองเชิงเขาของมาชูปิกชู และพักที่นั่นเลยก็ได้
พลาซา เดอ อามาส Photo by Andrea Salinas
จังหวัดกุสโกสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3,300 เมตร แต่เดิมคือเมืองหลวงของอาณาจักรอินคา ก่อนที่ชาวสเปนจะย้ายไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงลิม่า ที่นี่คุณจะได้สัมผัสเสน่ห์แห่งเมืองโบราณต่างยุคที่กลมกลืนกันอยู่บนที่ราบสูง อากาศค่อนข้างหนาวเย็น อุ่นเครื่องกันที่พลาซา เดอ อามาส (Plaza de Armas) ศูนย์กลางเมืองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งประวัติศาสตร์ มีที่พัก หลากหลาย ทั้งโรงแรมหรู ไปจนถึงโฮสเทลหลักร้อย ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และจุดชมวิว ที่คุณจะพบเสน่ห์และสีสันได้ในทุกมุมถนน ถ้าคุณสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของชนเผ่าอินคา อย่าพลาดพิพิธภัณฑ์อินคา (Inka Museum) ตั้งอยู่ที่ถนนเควซต้า เดล อัลมิรานเต้ (Cuesta del Almirante) ภายในมีงานไม้แกะสลักของชาวอินคา มัมมี่ เครื่องเงิน เครื่องทอง อาวุธ อุปกรณ์ยังชีพ เครื่องเซรามิก ศิลปะ หัตถกรรม และตำนานความเป็นมาของชนเผ่าอินคา ฯลฯ ค่าเข้าชมคนละ 10 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 300 กว่าบาท
ตลาดซานเปโดร ภาพถ่ายโดยWillian Justen de Vasconcellos
หากคุณต้องการสัมผัสสีสันความเป็นอยู่ของคนเมืองนี้ ต้องไปที่ตลาดซานเปโดร (San Pedro Market) ที่นี่คือชีพจรการค้า ที่รวมพ่อค้า แม่ขาย มาจำหน่ายของกิน ของใช้ ละลานตา ถ้าอยากได้ของสด ของดี ต้องรีบไปแต่เช้า พอตกสายไปถึงบ่ายคล้อยของสดจะเปลี่ยนเป็นแผงขายอาหารพื้นเมือง ที่คุณจะหาของทานเล่นยอดนิยมอย่างเอ็มปานาด้า หรือพายไก่สัญชาติสเปนที่หน้าตาเหมือนกะหรี่ปั๊บ หรือทามาล ที่เนื้อข้างในคล้ายห่อหมก แต่เป็นส่วนผสมของแป้งข้าวโพด เนื้อไก่ พริกไทย ชีส ลูกเกด ถั่ว น้ำมันมะกอก ปรุงให้เข้าเนื้อ ห่อด้วยใบตองทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วนำไปนึ่ง อร่อยอยู่ท้องกำลังพอดี สำหรับใครที่ชอบลองของแปลกซึ่งจัดได้ว่าเป็นอาหารพื้นเมืองเลื่องชื่อ ต้องลองรับประทานเมนูชื่อกูเวย์ (Cuy) หรือหนูตะเภาย่าง ซึ่งคนในชนบทจะเลี้ยงไว้ทำอาหารประจำบ้าน ว่ากันว่ารสชาติอร่อยไม่แพ้เนื้อกระต่ายหรือเนื้อเป็ดเลยทีเดียว หรือไม่ก็ลองสเต็กเนื้ออัลปาก้าดูสักมือ จะได้รู้ว่าสัตว์พื้นเมืองแห่งเปรูที่เปรียบเหมือนอูฐในทะเลทราย มีรสชาติอร่อยเช่นไร
ย่านซาน บลาส ภาพโดย http://juliejourneys
ย่านซาน บลาส (San Blas District) ยังคงความเป็นเมืองเก่าของชนเผ่าอินคา ลัดเลาะไปตามถนนสายแคบ ๆ คุณจะเห็นผนังอาคาร กำแพงตึกโบราณที่ก่อด้วยหินแกรนิตก้อนมหึมา หลังคาบ้านทุกหลังทำจากกระเบื้องโบราณ ที่ห่มคลุมบรรยากาศของเมืองเป็นโทนสีน้ำตาลคลาสสิก แทรกแซมความมีชีวิตชีวาด้วยสีสันของเสื้อผ้าชนพื้นเมืองที่เดินผ่านไปผ่านมาในย่านนี้ นักท่องเที่ยวมักจะเดินไปยังถนนฮาตันรุมิย็อก (Hatunrumiyoc ) ซึ่งเป็นถนนสายอินคาที่มีลักษณะเหมือนตรอกแคบ สองข้างเป็นผนังกำแพงที่ก่อด้วยหินก้อนใหญ่ ๆ เพื่อไปตามหาไฮไลต์ของถนนคือก้อนหิน 12 มุม (the Twelve-Angled Stone) ซึ่งเป็นหินก้อนใหญ่ที่รายล้อมด้วยหินตัด 12 ก้อน อันชวนทึ่งในวิธีการก่อสร้างกำแพงของชนเผ่าอินคาจริงๆ
ทางเดินสู่มาชูปิกชู Photo by Ashim D’Silva
เมื่อกายพร้อม ใจพร้อม คุณก็จองตั๋วรถไฟไปยังเมืองอากวาส กาเลียนเตส (Aguas Calientes) ซึ่งเป็นเมืองเชิงเขาของมาชูปิกชู ระยะเวลา 3 ชั่วโมงในขบวนรถไฟซึ่งมีปลายทางที่สถานีมาชูปิกชู จะผ่านไปอย่างรื่นรมย์ด้วยวิวภายนอกที่ลัดเลาะไปตามหุบเขา ระหว่างทางคุณจะได้สัมผัสสภาพชีวิตริมฝั่งแม่น้ำอุรูบัมบา สลับกับต้นสนและป่าที่เติบโตในที่สูง อีกฝั่งของแม่น้ำคือทางเดินของชาวอินคาโบราณชื่อ “อินคาเทรล” ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินเท้าขึ้นไปยังมาชูปิกชูได้ 500 คนต่อวัน ระยะทาง 43 กิโลเมตร เดินไปพักไปใช้เวลาประมาณ 4 วัน 3 คืน แต่สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย นั่งรถไฟไปคงจะเหมาะที่สุด เมื่อไปถึงสถานีมาชูปิกชูแล้ว ก็ยังต้องนั่งรถบัสต่อไปอีกหน่อย ก่อนที่จะเดินเท้าเข้าไปยังมาชูปิกชู
Photo by Amanda Kerr
อุทยานโบราณคดีแห่งชาติมาชูปิกชู เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกยูเนสโกในปี พ.ศ.2526 แน่นอนว่านักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาย่อมส่งผลกระทบต่อสถานที่ จึงจำกัดให้มีจำนวนผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมได้รอบละไม่เกิน 2,500 คน แบ่งเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย ราคาตั๋วอยู่ที่ 1,500 บาทโดยประมาณ ให้เวลารอบละ 4 ชั่วโมง ซึ่งดูเหมือนนาน แต่รับรองว่าเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อคุณได้ย่างเท้าก้าวเข้าสู่ประตูแห่งอารยธรรมอินคาบนยอดเขาสูงที่ตั้งอยู่ระหว่างยอดเขามาชูปิกชูและยอดเขาฮวยนาปิกชู
หุบเขาโบราณมาชูปิกชู Photo by Fabien Moliné
เป็นที่น่าเสียดายว่าชาวอินคาโบราณไม่มีภาษาเขียน มีแต่วิธีบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยการผูกเชือกปม ซึ่งบันทึกปมเชือกเหล่านี้ถูกทำลายเสียหมดเมื่อกองทัพสเปนเข้าตีเมือง จึงไม่มีใครทราบถึงที่เบื้องหลังความอัศจรรย์ในการก่อสร้างเมืองมาชูปิกชูที่แปลว่า “หุบเขาโบราณ” ที่นี่โดดเด่นด้วยการสร้างเมืองไปตามไหล่เขา มีการวางระบบการระบายน้ำและระบบประปา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิศวกรรมสถานชั้นสูงที่ซับซ้อนเกินกว่าคนโบราณจะสร้างได้ ความน่าทึ่งอีกอย่างคือการนำหินแกรนิตที่หนักมากและแข็งมาก (แข็งกว่าศิลาแลงซึ่งใช้สร้างนครวัด) มาเรียงซ้อนกันได้สนิทโดยปราศจากวัสดุเชื่อมประสาน โดยไม่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่นั้นทำได้อย่างไร การวางผังเมืองก็น่าดูน่าชม มีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ชัดเจน ส่วนแรกเป็นพื้นที่เพาะปลูกอยู่บนที่ราบตอนบน มีระบบระบายน้ำป้องกันน้ำขังเป็นแอ่งซึ่งอาจจะทำให้กำแพงพังลงได้ ส่วนที่สองเป็นส่วนพักอาศัยซึ่งมีอาณาเขตยาวประมาณ 400 เมตร แบ่งเป็น 2 เขต คือ เขตฮูริน หรือเขตต่ำ เป็นที่อยู่อาศัยของผู้รับใช้ ผู้ติดตาม ผู้ใช้แรงงาน และเขตฮานาน หรือเขตสูง เป็นที่พำนักของชนชั้นปกครอง และนักบวช จุดตัดของแกนเมืองทั้งสอง เป็นที่ตั้งของวิหารพระอาทิตย์ หอคอยสังเกตการณ์ และจุดเริ่มต้นของน้ำพุ
การก่อสร้างอาคารด้วยหิน Photo by Martín Espinoza
ผู้ก่อสร้างอาณาจักรมาชูปิกชู คือจักรพรรดิ์อินคาองค์ที่ 9 พระนามว่าปาชากูติ (Pachacuti) ไม่มีใครทราบพระประสงค์ที่แท้จริงในการสร้างเมืองนี้ แต่ดูราวกับว่าพระองค์จะทรงเล็งเห็นว่าในกาลอันใกล้ อาณาจักรอินคาจะต้องล่มสลายด้วยเงื้อมมือของผู้บุกรุกจากโพ้นทะเลไกล แต่ถึงแม้ว่าจะซ่อนเมืองทั้งเมืองไว้บนยอดเขาสูง แต่ก็หาได้พ้นจากการรุกรานของชาวสเปนไม่ นั่นจึงเป็นเหตุให้ชาวอินคาต้องอพยพ กระจัดกระจาย ละทิ้งเมืองให้กลายเป็นดินแดนที่หายสาบสูญ จนกระทั่งเมื่อภาพของนครโบราณที่น่าตื่นตะลึง เปิดเผยสู่คนรุ่นใหม่ เมืองมาชูปิกชู จึงกลายเป็นจุดหมายระดับโลกที่มีนักโบราณคดี สนใจเข้าไปศึกษาวิศวกรรมการก่อสร้างชั้นสูง นักประวัติศาสตร์เข้าไปค้นหาคำตอบของการสร้างเมือง และนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสความมหัศจรรย์กันตลอดทั้งปี
ก่อสร้างอาคารด้วยการเรียงหิน Photo by Aleksandar Popovski
ในวันที่อากาศดี ๆ คุณจะสามารถเห็นเมืองทั้งเมืองได้อย่างสวยงาม แต่ก็บ่อยครั้งที่สภาพอากาศแปรปรวนทำให้มีทั้งฝนและความหนาวเย็น ซึ่งทำให้เมืองนี้ดูเร้นลับมากขึ้นไปอีก วิธีเตรียมตัวเที่ยวมาชูปิกชูให้คุ้มค่า สมกับที่ได้มาเยือนครั้งหนึ่ง และอาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิต คือการเตรียมความรู้ ความเข้าใจ เตรียมเสื้อผ้าและสภาพร่างกายให้พร้อม เพื่อดื่มด่ำกำซาบประวัติของชาวอินคา และถ้าคุณมีเวลาพอสมควร อาจลิ้มลองรสชาติการเดินเท้าไปตามเส้นทางสายอินคาเทรลในช่วงขากลับ ซึ่งจะทำให้การมาเยือนมาชูปิกชูครั้งนี้เป็นประสบการณ์อันลืมไม่ลง
ยิ่งอยู่ใกล้ชาวอินคามากเท่าไร ก็เริ่มทำให้ตระหนักได้มากขึ้นว่า เพราะเหตุใดพวกเขาถึงผูกพันกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ด้วยความสูงของเมืองที่ดูราวกับจะเอื้อมไปหยิบจับดวงอาทิตย์ได้ จึงทำให้พวกเขาศรัทธาในเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความอบอุ่น แสงสว่าง และมอบพลังงานกับทุกสรรพชีวิต การเข้าถึงหัวใจของการถ่อมน้อมตน และเคารพต่อธรรมชาติ อาจจะทำให้เราเข้าถึงสาระสำคัญของอารยธรรมอินคา ที่อยากจะส่งต่อมายังคนในยุคของเรา มากขึ้นก็เป็นได้
แผนที่มาชูปิกชู
How to get there :
When to go :
Travel Tips
More info: https://www.cuscoperu.travel/blog/cusco-plaza-de-armas
ABOUT THE AUTHOR
POSTED BY travelbaradmin | Thursday, July 11, 2019 - 13:23
admintator for web Travellerbar.com
LEAVE A COMMENT