พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

POSTED BY TRAVELBARADMIN | Tuesday, February 23, 2021 - 20:40

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่บริเวณ “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ในคราวเดียวกับพระบรมมหาราชวัง  เดิมอาณาเขตของพระราชวังบวรสถานมงคลเดิมกว้างขวางมาก แต่ปัจจุบันได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง และถนน รวมทั้งเป็นเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย

พระราชวังบวรสถานมงคลเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรฯ หรือ พระมหาอุปราชถึง 5 พระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1  แล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช  พระราชวังแห่งนี้ได้ว่างลง จึงโปรดเกล้าฯให้ “มิวเซียมหลวง” ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวังมาตั้งแสดงที่นี่

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังสถานมงคลทั้งหมดจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร”  ประกาศตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” เมื่อปี พ.ศ.2477

ศาลาสำราญมุขมาตย์ Photo by SIHASAKPRACHUM

จัดแสดงในแนวของชีวประวัติ ประวัติศาสตร์  และโบราณคดี โดยแบ่งเป็น...

ประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดิน  เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” อาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ร่วมค้นหาที่มาของประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่รุ่งเรืองของไทย  ผ่านศิลปะโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมทุกสมัยที่พบในประเทศไทย ตามลำดับเวลา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี  สุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์

งานประณีตศิลป์ Photo by SIHASAKPRACHUM

ประณีตศิลป์สืบสมัย  งานประณีตศิลป์ชิ้นเอกที่จัดแสดงภายในหมู่พระวิมานพระราชฐานชั้นใน อันเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหลายพระองค์ และงานประณีตศิลป์ โดยจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ เครื่องคชาธาร  เครื่องสูง  เครื่องนาฏดุริยางค์  เครื่องถ้วย เครื่องโลหะ เครื่องราชยานคานหาม เครื่องไม้แกะสลัก ผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา  เครื่องมุก  และเครื่องอาวุธ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยสืบสาน  จัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี อาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์) ศึกษารูปแบบและวิวัฒนาการของศิลปะโบราณคดีในประเทศไทย ศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ศรีวิชัย เทวรูปโบราณ ลพบุรี สุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ Photo by Kritthaneth

โบราณสถานวังหน้า  ชมสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  อาคารโบราณสถานวังหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่ครั้งโบราณกาลและจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่สวยงาม  พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน  พระตำหนักแดง  ศาลาสำราญมุขมาตย์ ศาลาลงสรง  พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  เก๋งนุกิจราชบริหาร อาคารสถาปัตยกรรมจีนหลังเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในวังหน้า  อาคารโรงราชรถ และหอแก้วศาลพระภูมิ

พระพุทธรูปในยุคสมัยต่าง ๆ Photo by urairat rattanasing

โบราณวัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ และน่าสนใจ ได้แก่  

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อทำการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ เป็นต้น  หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2330 พระองค์เสด็จไปยังเชียงใหม่ และไดัอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐาน ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ 

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ 1 เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ศิลา จารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  ขณะผนวชอยู่เป็นผู้ทรงค้นพบ  วันศุกร์ที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1834 หรือ พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 

พระคเณศสี่กร ประทับบนฐานประดับหัวกะโหลก ทรงอาภรณ์และเครื่องประดับรูปหัวกะโหลก อาจหมายถึงคณปติ ผู้เป็นใหญ่เหนือภูติ บริวารของพระศิวะ วัสดุแกะจากหินภูเขาไฟ ศิลปะชวาภาคตะวันออก พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖
จากจันทิสิงหส่าหรี ประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลฮอลันดา ณ เกาะชวา น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้นำมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี Photo by Wasan Taela

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกรุงเทพฯ ส่วนชำรุดของรูปปั้นหล่อสัมฤทธิ์ หักหายไปมากกว่าส่วนที่เหลืออยู่ แต่ส่วนที่เหลืออยู่ คืออวโลกิเตศวรครึ่งองค์ตรงนาภี  พระกรหักหายไปทั้งสองข้าง เครื่องประดับศีรษะส่วนบนหายไปหมดเหลือแต่กะบังที่นลาฏ (หน้าผาก) เล็กน้อย พระโพธิสัตว์องค์นี้คงปั้นและหล่อขึ้นในดินแดนแถบนี้เอง อาจเป็นที่เมืองไชยาหรือแห่งใดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งแต่เขตสยามประเทศลงไปถึงเกาะชวาของอินโดนีเซีย ในศิลปะศรีวิชัยที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน  มีพระโพธิสัตว์เป็นรูปเคารพสำคัญ

รูปแบบและวิวัฒนาการของศิลปะโบราณคดี Photo by Kritthaneth

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร

เลขที่ 4 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ : 02-224 1402 / 02-224 1333
โทรสาร : 02-224 7493
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/museumbangkok/

วันและเวลาทำการ

วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์)
เวลา 09.00-16.00 น.

ค่าเข้าชม

คนไทย 30 บาท  

ชาวต่างประเทศ 200 บาท

ยกเว้นค่าเข้าชม : เด็ก / นักเรียน / นักศึกษา / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / พระสงฆ์ / สมาชิก ICOM ICOMOS (แสดงบัตร)

 

travelbaradmin's picture

ABOUT THE AUTHOR

POSTED BY travelbaradmin | Tuesday, February 23, 2021 - 20:40


admintator for web Travellerbar.com


RELATED FEED

POSTED BY travelbaradmin | Wednesday, September 14, 2022 - 12:10

Okayama


LEAVE A COMMENT

POSTED BY travelbaradmin | Wednesday, September 22, 2021 - 18:27

ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง บุรีรัมย์


LEAVE A COMMENT

POSTED BY travelbaradmin | Monday, September 20, 2021 - 13:50

เวียงจันทน์ไปวังเวียง


LEAVE A COMMENT